เนื้อหาบทที่ 5 พรหมภูมิ
พรหมภูมิ เป็นภพหนึ่งซึ่งอยู่ในภพ 3 อันประกอบด้วยกามภพ รูปภพ และอรูปภพ เป็นที่สถิตของรูปพรหมทั้งหลาย บุคคลเมื่อครั้งเป็นมนุษย์นอกจากจะทำทาน รักษาศีล เป็นปกติแล้ว ยังตั้งใจเจริญภาวนาเป็นประจำ จนสามารถเข้าถึงรูปฌานได้ เมื่อละโลกไปแล้วจึงได้บังเกิดในรูปภพ ซึ่งอยู่สูงขึ้นไปกว่าเทวภูมิทั้งหลาย
1. เพื่อให้นักศึกษาสามารถอธิบายความหมาย สภาพความเป็นอยู่ และที่ตั้งของรูปภพแต่ละชั้นได้อย่างถูกต้อง
2. เพื่อนักศึกษาสามารถอธิบายความหมาย และลักษณะของรูปพรหมที่อยู่ในแต่ละชั้นได้อย่างถูกต้อง
พรหมภูมิ เป็นสถานที่อยู่ของรูปพรหมซึ่งเมื่อครั้งเป็นมนุษย์ได้เจริญภาวนาจนกระทั่งทำรูปฌานให้บังเกิดขึ้นได้ เมื่อละโลกแล้วจึงมาบังเกิดเป็นรูปพรหมอยู่ในชั้นต่างๆ ตามกำลังความแก่อ่อนของฌานของตน รูปภพมีทั้งหมด 16 ชั้น มีทิพยสมบัติทั้งหลายที่ละเอียดประณีตมากกว่าในเทวภูมิหลายเท่า รูปพรหมที่อยู่ในแต่ละชั้นมีรัศมีกายที่สว่างไสวมากน้อยแตกต่างกัน รูปพรหม ที่อยู่ในชั้นที่สูงกว่าจะมีรัศมีกายที่สว่างและประณีตมากกว่าในชั้นล่าง อายุของรูปพรหมที่อยู่ในชั้นที่สูงกว่าจะยาวนานกว่าในชั้นล่าง (รูป)
พรหมภูมิ
หรือ พรหมโลก
คือ ภพอันเป็นที่อยู่ของรูปพรหม พรหมโลกนี้อยู่ในภูมิที่สูงขึ้นไปกว่าเทวภูมิ กล่าวคือ สูงกว่าสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตดีขึ้นไปอีกห้าล้านห้าแสนแปดพันโยชน์ ทั้งยังมีทิพยสมบัติทั้งหลายที่มีความสวยงามประณีตกว่าในเทวภูมิมากขึ้นไปอีก
พรหม คือ ผู้ที่มีความเจริญอยู่ด้วยคุณพิเศษ มีฌาน เป็นต้น รูปร่างของพรหมนั้นไม่ปรากฏว่าเป็นหญิงหรือชาย เพราะพรหมไม่มีกามฉันทะอย่างหยาบ คือ ไม่มีความกำหนัดยินดีในกาม ด้วยเหตุว่าท่านเหล่านี้มีความใฝ่ใจในการบำเพ็ญภาวนาเป็นอย่างมาก แม้ตั้งแต่ในสมัยที่เป็นมนุษย์ก็สามารถข่มกามฉันทะได้อยู่แล้วในขณะที่กระทำฌานให้เกิดขึ้น อย่างไรก็ดี พรหมนั้นมีรูปร่างลักษณะคล้ายชายมากกว่า ผู้ที่เจริญสมาธิภาวนาจนกระทั่งเข้าถึงรูปฌาน เช่น พระภิกษุ สามเณร หรือพวกฤๅษี ดาบส นักพรต โยคี เป็นต้น เมื่อละโลกแล้วก็จะมาบังเกิดเป็นรูปพรหมอยู่ในรูปภพ มีอายุยาวนานมากกว่าชาวสวรรค์ที่อยู่ในเทวภูมิมากมายนัก
พรหมทั้งหลายนั้นมีความพิเศษกว่าสัตว์ทั้งหลายในภพภูมิอื่นอย่างหนึ่ง คือ หมดความจำเป็นในการบริโภคอาหารเหมือนสัตว์ในภูมิอื่น ด้วยเหตุว่าพรหมทั้งหลายนั้นย่อมแช่มชื่นเอิบอิ่มโดยมีฌานสมาบัติเป็นอาหาร นอกจากนี้ สรีระร่างกายและใบหน้าของพรหมยังมีสัณฐานกลมเกลี้ยงสวยงามมาก มีรัศมีออกจากกายเลื่อมเป็นประภัสสร สว่างไสวกว่ารัศมีของพระอาทิตย์และพระจันทร์หลายพันเท่า หากปรารถนาจะให้รัศมีสว่างไปทั่วจักรวาลก็ย่อมทำได้ อวัยวะร่างกายที่ต่อกัน เช่น หัวเข่า หรือข้อศอก เป็นต้น ก็มีความกลมเกลี้ยงเรียบงามมาก มองดูไม่รู้เลยว่าเป็นส่วนรอยต่อของอวัยวะ อีกประการหนึ่ง เกศเกล้าของพรหมก็งดงามมาก เหนือศีรษะจะประดับด้วยชฎา เสวยสุขอยู่ในพรหมโลกตราบสิ้นกาลนาน
อนึ่ง ใบหน้าของพรหมที่คนส่วนใหญ่มักเข้าใจกันไปว่ามีอยู่ 4 หน้านั้น เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน จากความเป็นจริงอยู่มาก หากเป็นเช่นนั้นแล้วความงดงามอันเกิดจากคุณธรรมที่ได้สั่งสมไว้คงจะลดน้อยลงไปเป็นอันมาก แท้จริงแล้วพรหมนั้นมีใบหน้าเพียง 1 หน้าเท่านั้น เหมือนอย่างกับมนุษย์และเทวดาโดยทั่วๆ ไปที่มีใบหน้าเพียง 1 หน้า เป็นใบหน้าที่ผุดผ่อง งดงาม มีรัศมีสว่างไสวตามอำนาจของฌานที่ท่านได้เข้าถึง
มีหลักฐานจำนวนหนึ่งได้กล่าวถึงเรื่องของพรหมไว้ นักศึกษาอาจย้อนกลับไปทบทวนในตำราเรียนวิชาจักรวาลวิทยา บทที่ 4 เรื่องการกำเนิดโลกและมนุษย์ ซึ่งได้กล่าวถึงการกำเนิดมนุษย์ในยุคแรกไว้ว่า หลังจากที่แผ่นดินเกิดขึ้นแล้ว ได้มีพรหมพวกหนึ่ง เรียกว่า อาภัสสราพรหม จุติลงมาเกิดเป็นมนุษย์ เป็นการเกิดโดยไม่ต้องอาศัยพ่อแม่ เกิดแล้วโตเต็มวัยในทันที เรียกการเกิดชนิดนี้ว่า เกิดแบบโอปปาติกะ1)
และในอีกที่หนึ่งปรากฏใน อัปโปสสุกกถา2) ได้กล่าวถึงเหตุการณ์หลังจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ๆ ขณะที่พระองค์ประทับอยู่ ณ ควงไม้อชปาลนิโครธ ทรงมีพระปริวิตกแห่งจิตเกิดขึ้นว่า ธรรมที่ทรงบรรลุนั้นมีความลึกซึ้งละเอียดประณีต รู้เห็นตามได้ยาก หากพระองค์จะทรงแสดงธรรมก็จะเป็นการยากที่สัตว์ทั้งหลายจะรู้ทั่วถึงธรรมนั้น เมื่อทรงพิจารณาอย่างนี้แล้ว ทรงมีพระทัยน้อมไปเพื่อความขวนขวายน้อย ไม่น้อมไปเพื่อทรงแสดงธรรม
ครั้งนั้น ท้าวสหัมบดีพรหม ซึ่งอยู่ในมหาพรหมาภูมิ ทราบถึงพระปริวิตกแห่งจิตของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ความเสื่อมใหญ่จะเกิดขึ้นแก่โลกและสรรพสัตว์ทั้งหลาย เพราะไม่ได้ฟังธรรม จึงลงจากพรหมโลกมาปรากฏ ณ เบื้องพระพักตร์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในทันที แล้วกราบทูลให้พระองค์ทรงแสดงธรรม เพราะสัตว์ทั้งหลายพวกที่มีธุลีในดวงตาน้อยยังมีอยู่ คือ ผู้ที่มีกิเลสเบาบางมีอยู่ หากได้ฟังธรรม แล้วจักเข้าถึงธรรมได้ พระพุทธองค์ทรงทราบคำทูลอาราธนาของพรหม เมื่อทรงตรวจดูสัตว์โลกด้วยพุทธจักขุแล้วจึงตรัสตอบท้าวสหัมบดีพรหมว่า พระองค์จะทรงแสดงธรรมโปรดเวไนยสัตว์ทั้งหลาย ด้วยอาศัยพระมหากรุณาธิคุณ
จากหลักฐานที่นำมาแสดงนี้จะเห็นได้ว่า พรหมทั้งหลายนั้นมีอยู่จริง อีกทั้งพรหมโลกก็มีอยู่จริง และที่แท้แล้ว พรหมทั้งหลายนั้นความจริงก็คืออดีตมนุษย์นั่นเอง ที่เมื่อครั้งเป็นมนุษย์ได้หมั่นเจริญสมาธิภาวนาจนกระทั่งทำฌานให้บังเกิดขึ้น และคุณธรรมคือพรหมวิหารธรรมได้เกิดขึ้นอยู่ภายในตัว เมื่อละสังขารจากโลกนี้ไปแล้วจึงไปบังเกิดเป็นพรหมอยู่ในพรหมโลก (รูป)
เราได้ทราบแล้วว่า การมาบังเกิดเป็นรูปพรหมนั้น จะต้องเป็นผู้ที่ใฝ่ใจในการประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างสม่ำเสมอ จนกระทั่งกระทำฌานให้เกิดขึ้นได้ เมื่อละโลกไปแล้วก็จะไปบังเกิดเป็นพรหม
ในบรรดารูปพรหมทั้งหลายยังมีการแบ่งระดับชั้นตามภูมิที่อยู่ ซึ่งมีทั้งหมด 16 ชั้น มีหลักการแบ่งชั้น คือ แบ่งตามระดับความแก่อ่อนของกำลังฌาน รูปพรหมที่มีกำลังฌานอ่อน จะอยู่ในชั้นล่างๆ ส่วนรูปพรหม ที่มีกำลังฌานแก่ จะอยู่ในชั้นที่สูงขึ้นไป รูปพรหมทั้ง 16 ชั้น มีการจัดกลุ่มตามกำลังฌานที่เข้าถึง คือ รูปฌาน 4 โดยไล่ตามกำลังฌานอ่อนที่สุดไปถึงกำลังฌานแก่ที่สุด ดังนี้
1. ปฐมฌานภูมิ 3 ประกอบด้วย พรหมปาริสัชชาภูมิ พรหมปุโรหิตาภูมิ และมหาพรหมาภูมิ
2. ทุติยฌานภูมิ 3 ประกอบด้วย ปริตตาภาภูมิ อัปปมาณาภาภูมิ และอาภัสสราภูมิ
3. ตติยฌานภูมิ 3 ประกอบด้วย ปริตตสุภาภูมิ อัปปมาณสุภาภูมิ และสุภกิณหาภูมิ
4. จตุตถฌานภูมิ 7 ประกอบด้วย เวหัปผลาภูมิ อสัญญีสัตตาภูมิ และพรหมสุทธาวาสภูมิ 5
เป็นสถานที่อยู่ของผู้ที่ได้ปฐมฌาน สถานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ระดับเดียวกัน มิได้ตั้งอยู่สูงต่อๆ กันไปตามลำดับชั้นอย่างสวรรค์ ประกอบด้วย พรหมปาริสัชชาภูมิ พรหมปุโรหิตาภูมิ มหาพรหมาภูมิ
1. พรหมปาริสัชชาภูมิ เป็นสถานที่อยู่ของพรหมที่ได้ปฐมฌานอย่างอ่อน พรหมที่อยู่ในชั้นนี้เป็นพรหมธรรมดาสามัญ ไม่มีอำนาจพิเศษอันใด ทำหน้าที่เป็นบริษัทหรือเป็นบริวารของมหาพรหม พรหมชั้นนี้ มีอายุ 1 ใน 3 ของวิวัฏฏฐายีอสงไขยกัป
2. พรหมปุโรหิตาภูมิ เป็นสถานที่อยู่ของพรหมที่ได้ปฐมฌานอย่างกลาง พรหมที่อยู่ในชั้นนี้เป็นปุโรหิตหรือเป็นที่ปรึกษาของมหาพรหม และอยู่ในตำแหน่งผู้นำในกิจการทั้งหลายของมหาพรหม พรหมชั้นนี้มีอายุ 1 ใน 2 ของวิวัฏฏฐายีอสงไขยกัป
3. มหาพรหมาภูมิ เป็นสถานที่อยู่ของพรหมที่ได้ปฐมฌานอย่างแก่ พรหมที่อยู่ในชั้นนี้เป็นหัวหน้า เป็นใหญ่ยิ่งกว่าพรหมปาริสัชชาและพรหมปุโรหิตา และมหาพรหมาภูมิยังเป็นที่อยู่ของท้าวสหัมบดีพรหม ซึ่งเป็นผู้ทูลอาราธนาให้พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมโปรดเวไนยสัตว์อีกด้วย พรหมชั้นนี้มีอายุ 1 วิวัฏฏฐายีอสงไขยกัป
การจัดแบ่งสถานที่อยู่ของพรหมที่ได้ปฐมฌานนั้นมีหลักการคือ พรหมที่ได้ฌานอย่างแก่ มีบุญมาก มีรัศมีสว่างไสว จะอยู่ที่ศูนย์กลางภพ ส่วนพรหมที่มีกำลังฌานรองลงไป จะอยู่ถัดออกไปโดยรอบ กล่าวคือ ศูนย์กลางภพเป็นที่อยู่ของมหาพรหม ถัดออกไปเป็นที่อยู่ของพรหมปุโรหิตา และที่อยู่วงนอกสุดเป็นที่อยู่ของพรหมปาริสัชชา สำหรับการจัดแบ่งสถานที่อยู่ของพรหมในทุติยฌานภูมิและตติยฌานภูมิ ก็ใช้หลักการ เดียวกันนี้
เป็นสถานที่อยู่ของผู้ที่ได้ทุติยฌาน สถานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ระดับเดียวกัน สูงขึ้นไปกว่าชั้นปฐมฌานภูมิ ประกอบด้วย ปริตตาภาภูมิ อัปปมาณาภาภูมิ อาภัสสราภูมิ
4. ปริตตาภาภูมิ เป็นสถานที่อยู่ของพรหมที่ได้ทุติยฌานอย่างอ่อน พรหมที่อยู่ในชั้นนี้มีรัศมีน้อยกว่าพรหมที่อยู่เบื้องบน (ปริตตะ แปลว่า น้อย อาภา แปลว่า รัศมี ความสว่าง) พรหมชั้นนี้มีอายุ 2 มหากัป
5. อัปปมาณาภาภูมิ เป็นสถานที่อยู่ของพรหมที่ได้ทุติยฌานอย่างกลาง พรหมที่อยู่ในชั้นนี้มีรัศมีหาประมาณมิได้ พรหมชั้นนี้มีอายุ 4 มหากัป
6. อาภัสสราภูมิ เป็นสถานที่อยู่ของพรหมที่ได้ทุติยฌานอย่างแก่ พรหมที่อยู่ในชั้นนี้มีรัศมีแผ่ซ่าน ออกมาจากร่างกาย มีความยินดีในฌานของตนอย่างเต็มที่ เป็นไปด้วยอำนาจของปีติอยู่เสมอ จิตใจจึงมี ความผ่องใสมากอยู่เสมอ ส่งผลให้กายผ่องใสจนปรากฏออกมาเป็นรัศมีแผ่ซ่านไปทั่วร่างกาย พรหมชั้นนี้ มีอายุ 8 มหากัป
เป็นสถานที่อยู่ของผู้ที่ได้ตติยฌาน สถานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ระดับเดียวกัน สูงขึ้นไปกว่าชั้นทุติยฌาน-ภูมิ ประกอบด้วย ปริตตสุภาภูมิ อัปปมาณสุภาภูมิ สุภกิณหาภูมิ
7.ปริตตสุภาภูมิ เป็นสถานที่อยู่ของพรหมที่ได้ตติยฌานอย่างอ่อน พรหมที่อยู่ในชั้นนี้มีรัศมีสวยงามเช่นเดียวกับรัศมีของดวงจันทร์ เป็นความสว่างที่ไม่กระจัดกระจายออกจากกัน รัศมีรวมกันอยู่เป็นวงกลม แต่ยังสวยงามน้อยกว่าพรหมที่อยู่เบื้องบน พรหมชั้นนี้มีอายุ 16 มหากัป
8.อัปปมาณสุภาภูมิ เป็นสถานที่อยู่ของพรหมที่ได้ตติยฌานอย่างกลาง พรหมที่อยู่ในชั้นนี้มีรัศมีสวยงามหาประมาณมิได้ พรหมชั้นนี้มีอายุ 32 มหากัป
9.สุภกิณหาภูมิ เป็นสถานที่อยู่ของพรหมที่ได้ตติยฌานอย่างแก่ พรหมที่อยู่ในชั้นนี้มีรัศมีสวยงามตลอดทั่วร่างกาย พรหมชั้นนี้มีอายุ 64 มหากัป
เป็นสถานที่อยู่ของผู้ที่ได้จตุตถฌาน ประกอบด้วย เวหัปผลาภูมิ อสัญญีสัตตาภูมิ และสุทธาวาสภูมิ 5 ได้แก่ อวิหาภูมิ อตัปปาภูมิ สุทัสสาภูมิ สุทัสสีภูมิ อกนิฏฐาภูมิ
10. เวหัปผลาภูมิ เป็นสถานที่อยู่ของพรหมที่มีผลไพบูลย์ คือเป็นผลของกุศลที่มั่นคงไม่หวั่นไหวเป็นพิเศษ ตามอำนาจของฌาน ผลของกุศลในชั้นปฐมฌานภูมิ ทุติยฌานภูมิ และตติยฌานภูมิ ไม่สามารถ บังเกิดในชั้นเวหัปผลาภูมิได้ เพราะเมื่อยามโลกถูกทำลาย ภูมิทั้ง 3 ระดับย่อมถูกทำลายไปด้วย ดังนี้
เมื่อโลกถูกทำลายด้วยไฟ ปฐมฌานภูมิ จะถูกทำลายไปด้วย
เมื่อโลกถูกทำลายด้วยน้ำ ปฐมฌานภูมิ ทุติยฌานภูมิ จะถูกทำลายไปด้วย
เมื่อโลกถูกทำลายด้วยลม ปฐมฌานภูมิ ทุติยฌานภูมิ ตติยฌานภูมิ จะถูกทำลายหมด
ในบรรดาพรหมทั้ง 9 ภูมิที่กล่าวมา สุภกิณหามีอายุยืนมากกว่าพรหมอื่นๆ ที่เกิดอยู่ในภูมิต่ำกว่า คือมีอายุขัยถึง 64 มหากัป โดยพรหมองค์ที่มีอายุเต็ม 64 มหากัป จะต้องเป็นองค์ที่อุบัติขึ้นพร้อมกับการสร้างโลกใหม่ ส่วนองค์ที่เกิดตามมาภายหลังย่อมมีอายุลดลงไปตามลำดับ เมื่อครบกำหนด 64 มหากัป ตติยฌานภูมินี้จะถูกทำลายด้วยลมทุกครั้งไป สำหรับเวหัปผลาภูมิ พ้นจากการถูกทำลายทั้งด้วยไฟ น้ำ และลม พรหมทุกองค์ที่บังเกิด ณ ที่นี้จึงมีอายุขัยได้เต็มที่ คือ 500 มหากัปเสมอไป
11. อสัญญีสัตตาภูมิ เป็นสถานที่อยู่ของพรหมที่ไม่มีนามขันธ์ (เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) มีแต่รูปขันธ์ คือ ดับความรู้สึกข้างนอกหมด ไม่รับรู้อะไรทั้งสิ้น แต่กิเลสยังไม่ดับ มีรูปร่างผิวพรรณงดงามคล้ายพระพุทธรูปทองคำ มีอิริยาบถ 3 อย่าง คือ นั่ง นอน หรือยืน แล้วแต่อิริยาบถก่อนตายในชาติที่แล้วมา และจะอยู่ในอิริยาบถเดียวนิ่งๆ แข็งทื่ออยู่อย่างนั้นจนครบอายุขัย จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า พรหมลูกฟัก อสัญญีสัตตาพรหมนี้จัดว่าเป็นอาภัพพสัตว์ คือ ไม่สามารถตรัสรู้ได้ในชาตินั้น พรหมชั้นนี้มีอายุ 500 มหากัป เช่นเดียวกับเวหัปผลาภูมิ
จตุตถฌานภูมิทั้ง 2 นี้ตั้งอยู่กลางอากาศ สูงกว่าตติยฌานภูมิ พรหมใน 2 ชั้นนี้สามารถมองเห็นซึ่งกันและกัน และมองเห็นพรหมชั้นที่อยู่ต่ำกว่าได้ ส่วนพรหมชั้นต่ำกว่าไม่สามารถมองเห็นพรหมชั้นสูงได้
รูปพรหมทั้ง 11 ชั้นที่กล่าวมานี้ แม้ว่าจะมีอายุยืนยาวมากก็ตาม ท้ายที่สุดจะต้องตายจากความเป็นพรหมด้วยกันทั้งสิ้น ตราบใดที่ยังมิได้เป็นพระอริยบุคคล อาจต้องไปเสวยทุกข์ในอบายภูมิก็เป็นได้ ทิพยสมบัติอิทธิฤทธิ์ รัศมีที่รุ่งเรือง การมีอายุยืนต่างๆ เหล่านี้ไม่สามารถช่วยตนเองได้เลย
สุทธาวาสภูมิ 5
เป็นสถานที่อยู่ของผู้ที่ได้บรรลุเป็นพระอริยเจ้าชั้นอนาคามี สุทธาวาสภูมิแบ่งออกเป็น 5 ชั้น ตามความแก่อ่อนของบารมี โดยดูจากอินทรีย์ 5 ได้แก่ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ดังนี้
12. อวิหาสุทธาวาสภูมิ เป็นสถานที่อยู่ของพรหมที่มีอินทรีย์อ่อนที่สุด ศรัทธามีกำลังมากกว่าอินทรีย์อื่น จึงได้มาเกิดในชั้นนี้ พรหมที่อยู่ในชั้นนี้จะไม่ละทิ้งสถานที่ของตน คือ ต้องอยู่จนครบอายุขัยจึงจุติ ไม่มีการเสื่อมจากสมบัติของตน มีทิพยสมบัติบริบูรณ์เต็มที่อยู่เสมอจนตลอดอายุขัย 1,000 มหากัป สำหรับพรหมชั้นสูงที่เหลืออีก 4 ชั้น อาจไม่ได้อยู่จนครบอายุขัย มีการจุติได้ก่อน
13. อตัปปาสุทธาวาสภูมิ เป็นสถานที่อยู่ของพรหมที่มีอินทรีย์แก่ขึ้น วิริยะมีกำลังมากกว่าอินทรีย์ อื่น จึงได้มาเกิดในชั้นนี้ พรหมที่อยู่ในชั้นนี้ไม่มีความเดือดร้อนใจ เพราะย่อมเข้าผลสมาบัติอยู่เสมอ นิวรณ-ธรรมที่เป็นเหตุให้จิตเดือดร้อนไม่อาจเกิดขึ้น ใจมีแต่ความสงบเยือกเย็น พรหมชั้นนี้มีอายุ 2,000 มหากัป
14. สุทัสสาสุทธาวาสภูมิ เป็นสถานที่อยู่ของพรหมที่มีอินทรีย์แก่ขึ้นไปอีก สติมีกำลังมากกว่าอินทรีย์อื่น จึงได้มาเกิดในชั้นนี้ พรหมที่อยู่ในชั้นนี้จะเห็นสิ่งต่างๆ โดยปรากฏชัด เพราะบริบูรณ์ด้วยจักษุทั้งหลาย3)4)5)6) ได้แก่ ปสาทจักษุ ทิพยจักษุ ธัมมจักษุ ปัญญาจักษุ ที่บริสุทธิ์ พรหมในชั้นนี้มีร่างกายสวยงามมาก ผู้ใดได้เห็นแล้วย่อมเกิดความสุขใจ สุทัสสา จึงหมายความว่า ผู้ที่ผู้อื่นเห็นด้วยความเป็นสุข พรหมชั้นนี้มีอายุ 4,000 มหากัป
15. สุทัสสีสุทธาวาสภูมิ เป็นสถานที่อยู่ของพรหมที่มีอินทรีย์แก่เกือบถึงที่สุด สมาธิมีกำลังมากกว่าอินทรีย์อื่น จึงได้มาเกิดในชั้นนี้ พรหมที่อยู่ในชั้นนี้จะแลเห็นสิ่งต่างๆ โดยสะดวก มีการเห็นบริบูรณ์ด้วยดียิ่งกว่าสุทัสสาพรหม ว่าโดยจักษุ 4 ประการแล้ว ปสาทจักษุ ทิพยจักษุ ปัญญาจักษุ ทั้งสามอย่างนี้มีกำลังมากยิ่งกว่าสุทัสสาพรหม มีแต่ธัมมจักษุเท่านั้นที่มีกำลังเสมอกัน พรหมชั้นนี้มีอายุ 8,000 มหากัป
16. อกนิฏฐสุทธาวาสภูมิ เป็นสถานที่อยู่ของพรหมที่มีอินทรีย์แก่ที่สุด ปัญญามีกำลังมากกว่าอินทรีย์อื่น จึงได้มาเกิดในชั้นนี้ พรหมที่อยู่ในชั้นนี้จะมีทิพยสมบัติและความสุขที่ยอดเยี่ยม มีคุณสมบัติยิ่งกว่ารูปพรหมทุกชั้น รูปพรหมชั้นที่ 1 ถึงชั้นที่ 4 ในสุทธาวาสภูมินี้ ขณะยังไม่เป็นพระอรหันต์ เมื่อจุติในชั้นของตนแล้วจะเลื่อนไปบังเกิดในชั้นสูงขึ้นไป ไม่เกิดซ้ำภูมิหรือไม่เกิดในภูมิต่ำกว่า แต่สำหรับอกนิฏฐพรหมย่อมไม่ไปบังเกิดในภูมิอื่นอีกเลย จะต้องปรินิพพานในภูมินี้อย่างแน่นอน พรหมชั้นนี้มีอายุ 16,000 มหากัป
ในอกนิฏฐสุทธาวาสภูมินี้ มีปูชนียสถานสำคัญแห่งหนึ่ง คือ ทุสสเจดีย์ อันเป็นที่บรรจุเครื่องฉลองพระองค์ของเจ้าชายสิทธัตถะ ทรงสวมใส่ในขณะเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ โดยฆฏิการพรหมได้ลงมาจากชั้นอกนิฏฐสุทธาวาสภูมิ นำเอาเครื่องบริขารทั้ง 8 ถวายแด่พระสิทธัตถะ และรับเอาเครื่องฉลองพระองค์ไปบรรจุไว้ในทุสสเจดีย์ มีความสูง 12 โยชน์
สุทธาวาสภูมิ 5 จะมีขึ้นในระยะที่มีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นเท่านั้น เพราะเป็นที่อยู่ของพระอนาคามีบุคคล ถ้าพระพุทธศาสนายังไม่บังเกิด พระอริยบุคคลย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ นับเป็นสถานที่ที่เกิดขึ้นเฉพาะกาลโดยธรรมชาติ อายุของสุทธาวาสภูมิจะไม่เกินอายุรวมของทั้ง 5 ชั้นในภูมินี้รวมกัน (ประมาณ 31,000 มหากัป) เพราะไม่ว่าพระอริยบุคคลจะเกิดอยู่ในภูมิใด ในมนุษย์ เทวดา รูปพรหม ก็จะพากันปรินิพพานจนหมด ดังนั้น สุทธาวาสภูมิจะหายไปและจะบังเกิดขึ้นใหม่อีกครั้งเมื่อมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ใหม่อุบัติขึ้นในโลกมนุษย์ หมุนเวียนอยู่ดังนี้
นักศึกษาได้ทราบแล้วว่า การบังเกิดเป็นพรหมนั้น เมื่อครั้งเป็นมนุษย์จะต้องหมั่นสร้างบุญกุศล ทั้งทาน ศีล ภาวนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำภาวนา จะต้องใฝ่ใจปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอจนกระทั่งทำฌานให้เกิดขึ้นได้ เมื่อละโลกไปแล้วจึงได้ไปบังเกิดเป็นพรหมอยู่ในรูปภพ ได้เสวยสุขอยู่ในทิพยวิมานอันโอฬาร และมีอายุขัยยาวนานยิ่งกว่าชาวสวรรค์หลายเท่าทีเดียว
อย่างไรก็ดี การมีชีวิตที่ยืนยาวอยู่บนพรหมโลก กลับเป็นการตัดโอกาสตนเองในการลงมาสั่งสมบุญบารมีในเมืองมนุษย์ พรหมในหลายๆ ชั้นหมดโอกาสได้พบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บางชั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาบังเกิดนับสิบนับร้อยพระองค์แล้ว ก็ยังคงเป็นพรหมอยู่อย่างนั้น ไม่มีโอกาสได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์ ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏอยู่ร่ำไป จนกว่าจะได้พบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ฟังธรรม บุญบารมีเต็มเปี่ยม จึงจะหลุดพ้นจากทุกข์ได้
ตารางแสดงอายุของรูปพรหม 16 ชั้น
รูปพรหม | อายุ |
---|---|
1. ปาริสัชชาภูมิ | 1 ใน 3 วิวัฏฏัฏฐายีอสงไขยกัป7) |
2. ปุโรหิตาภูมิ | 1 ใน 2 วิวัฏฏัฏฐายีอสงไขยกัป |
3. มหาพรหมาภูมิ | 1 วิวัฏฏัฏฐายีอสงไขยกัป |
4. ปริตตาภาภูมิ | 2 มหากัป |
5. อัปปมาณาภาภูมิ | 4 มหากัป |
6. อาภัสสราภูมิ | 8 มหากัป |
7. ปริตตสุภาภูมิ | 16 มหากัป |
8. อัปปมาณสุภาภูมิ | 32 มหากัป |
9. สุภกิณหาภูมิ | 64 มหากัป |
10. เวหัปผลาภูมิ | 500 มหากัป |
11. อสัญญีสัตตาภูมิ | 500 มหากัป |
12. อวิหาสุทธาวาส | 1,000 มหากัป |
13. อตัปปาสุทธาวาสภูมิ | 2,000 มหากัป |
14. สุทัสสาสุทธาวาสภูมิ | 4,000 มหากัป |
15. สุทัสสีสุทธาวาสภูมิ | 8,000 มหากัป |
16. อกนิฏฐสุทธาวาสภูมิ | 16,000 มหากัป |